วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แม่นาคพระโขนง

 ตำนานแม่นาคพระโขนง            แม่นาคพระโขนง เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีตายทั้งกลมที่เป็นที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่งของ ไทย เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัย รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตัวตนอยู่จริง ปัจจุบันมี ศาลแม่นาค ตั้งอยู่ที่ วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

  เรื่องเล่าแม่นาคพระโขนง 
          ขณะนั้นมีผัวหนุ่มเมียสาวคู่หนึ่ง อาศัยอยู่กินด้วยกันที่ย่านพระโขนง ฝ่ายสามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค ทั้งสองอยู่กินกันจนนางนาคตั้งครรภ์อ่อนๆ นายมากก็มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไปเป็นทหารประจำการณ์ที่บางกอกตามหมายเรียก นางนาคจึงต้องอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง
          ยิ่งนานวัน ท้องของนางนาคก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ จนครบกำหนดคลอด หมอตำแยก็มาทำคลอดให้ แต่ว่าลูกของนางนาคไม่ยอมกลับหัว และคลอดออกมาตามธรรมชาติ ส่งผลให้นางนาคเจ็บปวดยิ่งนัก และในที่สุดนางนาคก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหว ต้องสิ้นลมหายใจไปพร้อมกับลูกในท้อง จนกลายเป็นผีตายทั้งกลม
          หลังจากนั้น ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าหลังวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการจากทหารก็กลับมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบว่า เมียของตัวเองได้ตายจากไปแล้ว นายมากกลับมาถึงก็ไม่ได้พบเพื่อนบ้านเลย เนื่องจากหลังจากที่นางนาคตายไปก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ตัวบ้านของนางนาคอีก เลย เพราะกลัวผีนางนาค ซึ่งต่างก็เชื่อกันว่าวิญญาณของผีตายทั้งกลมนั้นเฮี้ยน และมีความดุร้ายเป็นยิ่งนัก
          ครั้นเมื่อนายมากกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็อยู่กินกับนางนาคต่อไป นางนาคก็คอยพยายามรั้งนายมากให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลา ไม่ให้ออกไปพบใคร เพราะเกรงว่านายมากจะรู้ความจริงจากชาวบ้าน นายมากก็เชื่อเมีย เพราะรักเมีย ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมาก แม้จะบอกนายมากว่าอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายจากไปแล้ว
          จนวันหนึ่งขณะที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนาคทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นบ้านเพื่อเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน
          นายมากวางแผนหลบหนีผีนางนาค ขณะนั้นนางนาคเมื่อเห็นผิดสังเกตจึงออกมาดู ทำให้รู้ว่าสามีผู้เป็นที่รักได้รู้ความจริง และกำลังจะหนีไป จึงตามนายมากไปทันที นายมากเมื่อเห็นผีนางนาคตามมาจึงหนีเข้าไปหลบอยู่ในดงหนาด นางนาคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะผีกลัวใบหนาด นายมากหนีไปพึ่งพระที่วัด นางนาคไม่ลดละพยายาม ด้วยความที่เจ็บใจชาวบ้านที่คอยยุแยงตะแคงรั่วสามีตัวเอง ทำให้นางนาคออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบางพระโขนง ซึ่งความเฮี้ยนของนางนาค ความเชื่อส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ถูกฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่นั่นเอง.
          แต่สุดท้ายผีนางนาค ก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต พรหมรังสี] สยบลงได้ โดยการใช้พระธรรมชี้นำให้นางนาคเข้าใจในความเป็นจริงว่าผีอยู่กับคนไม่ได้ ท่านสมเด็จฯได้นำกะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากของนางนาคออกมาทำปั้นเหน่ง [หัวเข็มขัดโบราณ] เพื่อเป็นการสะกดวิญญาณ และนำนางนาคสู่สุคติ หลังจากนั้น ปั้นเหน่งชิ้นนั้นก็ตกทอดไปยังเจ้าของอื่นๆ อีกหลายมือ ตั้งแต่บัดนั้นมา ตำนานรักของนางนาค นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจคนไทยอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้
  ย้อนรอยแม่นาคพระโขนง 
          เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ปรากฏอยู่ทั่วไปตามความเชื่อของคนไทยสมัยก่อน และปัจจุบัน เช่น เชื่อว่าชื่อสี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นาคอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย , เชื่อว่าพระสงฆ์รูปที่มาปราบแม่นาคได้นั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต พรหมรังสี] อีกทั้งยังเชื่อว่า ท่านได้เจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นาคทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาค และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก ,หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อสมัยเด็กๆ ท่านเคยเห็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นรอยเท้าแม่นาคบนขื่อเพดานวัดมหาบุศย์ด้วย ซึ่งปัจจุบันศาลาที่ถูกเขียนนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว
ถึง อย่างไร ความเชื่อเรื่องแม่นาคพระโขนง ก็ยังปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทย ณ วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง ปัจจุบันนี้ มีศาลแม่นาคตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่สักการะ เคารพบูชาอย่างมากของบุคคลในและนอกพื้นที่ โดยบุคคลเหล่านี้จะเรียกแม่นาคด้วยความเคารพว่า "ย่านาค" บ้างก็เชื่อกันว่าแม่นาคได้ไปเกิดใหม่แล้ว
          ในทางบันเทิง เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ในรอบหลายปี อีกทั้งยังสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ตลกล้อเลียนก็เคยมาแล้ว โดยล่าสุดเป็นละครเวทีโอเปร่าอำนวยการแสดงโดย สมเถา สุจริตกุล ในปี พ.ศ. 2545
  วันหนึ่ง..ที่ศาลย่านาค.. 
          หลายครั้งหลายคราวที่ พี่ลาเต้ ได้มีโอกาสได้เข้าไปไหว้รูปปั้นย่านาค ในศาลด้านหลังวัดมหาบุศย์..พื้นที่ตรงนั้นบอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตได้เป็น อย่างดี จนสามารถจินตนาการให้นึกภาพตามได้ไม่ยาก..มีศาลหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับริมน้ำ ด้านหลังของศาลเป็นสุสานของวัดมหาบุศย์ที่เต็มไปด้วยโลงศพ และต้นตะเคียน ด้านหน้าของศาลติดคลองสายหนึ่งที่ชื่อว่า "คลองพระโขนง" บรรยากาศในละแวกนั้นจะคึกคักมากๆในช่วงกลางวัน แต่ก็จะเงียบสงัดวังเวงในยามค่ำคืน [ยกเว้นวันที่หวยออกจะมีคนเยอะมากๆหลายเท่า]
          เป็นความเชื่อที่มีมานานแล้วว่า ชายไทยคนไหนที่ไม่อยากติดทหาร หรือญาติพี่น้องกลุ่มใดไม่อยากให้ลูกหลายต้องเป็นทหาร จะต้องมาขอพรจากย่านาค ซึ่งก็จะสมหวังไม่ได้เป็นทหารสมใจ..เพราะเชื่อว่าท่านไม่ชอบการเป็นทหาร เพราะทหารทำให้ท่านกับสามีต้องพรากจากกัน..
          ครั้งหนึ่ง พี่ลาเต้ เคยพาเพื่อนๆในกลุ่มไปไหว้ท่านพร้อมกัน..ทุกคนไม่เคยมา ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกของทุกคน ทันทีที่ถึงศาล พี่ลาเต้ ก็พาเพื่อนๆไปดูสถานที่ที่ถูกเล่าขานเป็นตำนานหลายๆแห่ง เช่น ต้นตะเคียน ป่าช้า ศาลาริมน้ำ ที่ตั้งบ้านย่านาคในอดีต หรือแม้กระทั่งเดินเข้าไปหาพระเพื่อถามว่า ศาลาที่มีรอยเท้าย่านาคอยู่ตรงไหน..
          เมื่อได้ทราบประวัติ และหลักฐานต่างๆจนเกือบครบ พี่ลาเต้ ก็พาเพื่อนๆเข้าไปไหว้ย่านาค..บรรยากาศในศาลก็เต็มไปด้วยชุดไทย ชุดเด็ก และดอกไม้ต่างๆ ที่คนนำมาไหว้ และแก้บน..พอไหว้เสร็จก็ทยอยออกมาทีละคน..เพื่อนๆ พี่ลาเต้ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า..รู้สึกหัวใจเต้นแรงมากๆตอนที่ปิดทองที่ หุ่นย่านาค แม้กระทั่งระหว่างทางที่นั่งรถเดินทางกลับ เพื่อนแต่ละคนก็เล่าว่าตอนนี้ในหัวยังเห็นเป็นรูปหุ่นย่านาคตลอดเวลา..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น