วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ตะลึง!พบศพแม่นาค ในเส้นทางย้อนอดีตหนามเตย ที่ “พิพิธภัณฑ์หนังไทย”


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยเด่นด้วยรูปแบบครึ่งวงกลมสีเหลืองสดใส
       ช่วงนี้กระแสหนังไทยมาแรง โดยเฉพาะหนังรักชวนสวีทที่ดูจะถูกใจวัยรุ่นและคู่รักจำนวนมาก ทั้ง“กวน มึน โฮ” ที่ โกย เงิน จัง ได้ตังค์ไปตั้งกว่า 100 ล้านแล้ว หรืออย่าง“สิ่งเล็ก เล็ก ที่เรียกว่ารัก” นี่ก็มาแบบเนิบๆใช้กระแสบอกต่อ ฟันเงินไปเหนาะๆเข้าสู่หลักเกือบร้อยล้าน
     
       ยังไงๆก็ขอให้คนในวงการภาพยนตร์ไทย รักษาคุณภาพในการทำหนังไว้ด้วย อย่าสักแต่ทำหนังประเภทตลกหยาบโลน ตุ๊ดแต๋วบ้าบอ และหนังผีปัญญาอ่อน ออกมาฉายมากๆ เลย เพราะมันนอกจากฉุดวงการหนังไทยให้สาละวันเตี้ยลงแล้ว ยังบั่นทอนกำลังใจของคนที่สร้างหนังไทยดีๆ ด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม
       ทั้งนี้วงการอุตสหกรรภาพยนตร์ไทยนั้น ถือกำเนิดมาในบ้านเรานานโขกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งด้วยความอยากรู้ความเป็นมาของวงการหนังไทย ฉากนี้ฉันจึงเปลี่ยนแนวจากการเข้าโรงหนัง ไปเที่ยวยัง“พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย”แทน
     
       เมื่อไปถึงพิพิธภัณฑ์ ฉันได้รับเกียรติจาก คุณวินัย สมบุญนา หัว หน้าผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ เป็นวิทยากรนำชม แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆคุณวินัยได้ตั้งคำถามให้ทายว่า รูปปั้นหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คล้ายบุคคลท่านใด หลังจากที่ทายกันไปมา คุณวินัยก็ได้เล่าเรื่องย้อนกลับไปในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2440 ร.5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกโดย “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ” ได้เสด็จตามไปด้วย และได้รับมอบหมายให้ซื้อข้าวของที่แปลกใหม่กลับมาเมืองไทย
ศพแม่นาค
       โดยมีสิ่งหนึ่งที่ท่านนำกลับมาด้วย คือ กล้อง ฟิล์ม และเครื่องฉาย ซึ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์ และท่านก็ได้เริ่มด้วยการถ่ายทำพระราชพิธีในพระราชสำนัก และนำหนังที่ทรงถ่ายทำมาฉายขึ้นจอแล้วเก็บเงินจากคนดู ในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ.ศ.2443 ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่เริ่มถ่ายทำและฉายหนังให้คนดู ทางวงการภาพยนตร์จึงนับถือท่านเป็น “พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม”
     
       ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้นำรูปปั้นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม ในลักษณะขณะทรงจับกล้องถ่ายภาพยนตร์ มาประดิษฐานไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน จากนั้นคุณวินัยก็เล่าถึงตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรง ครึ่งวงกลม สีเหลืองสดใสดูเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้ว่าสร้างขึ้นแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2544
จำลองป้ายโฆษณาภาพยนตร์ในสมัยก่อน
       ตัวตึกจำลองแบบอาคารมาจากโรงถ่ายหนังเสียงแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งในยุคแรกจะมีหนังเงียบก่อนแล้วจึงมีหนังเสียงต่อมา ซึ่งพี่น้องวสุวัตเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกในไทยที่ริเริ่มการถ่ายทำหนังเสียงใน เมืองไทย และตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงขึ้นใน พ.ศ.2478บริเวณทุ่งบางกระปิ หรือคือบริเวณแยกอโศกในปัจจุบัน ออกแบบโดยโปรเฟสเชอร์ อี มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ที่กรมศิลปากรในสมัยนั้น
     
       คุณวินัยเล่าว่าตัวโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของจริงใหญ่กว่าอาคาร นี้ 3-4 เท่าเลยก็ว่าได้ และรอบๆ โรงถ่ายก็สร้างเป็นสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส บ้านเรือน เพื่อเป็นฉากการถ่ายทำต่างๆ เซ็ตทุกอย่างเรียนแบบฮอลลีวูด โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” เลยทีเดียว
อุปกรณ์ถ่ายภาพยนตร์ในสมัยก่อน
       ปัจจุบันจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก2 ชั้น ชั้นแรกเป็นการเล่าประวัติศาสตร์เรื่องราววัตถุสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์
     
       เมื่อคุณวินัยเล่าปูพื้นให้ฉันฟังแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปยังภายในพิพิธภัณฑ์ โดยก่อนที่จะเข้าไปฉันต้องผ่านสเลค หรือก็คืออุปกรณ์ที่ไว้ใช้บอกฉากบอกซีน ตอนที่สั่งคัทนั่นแหละ ซึ่งของที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คุณวินัยแอบบอกว่าสเลคยักษ์นี้รอการตอบรับเพื่อบันทึกลงในกินเนสบุ๊คอยู่ ด้วย
อุปกรณ์ประกอบกล้องภาพยนตร์ในสมัยก่อน
       โดยวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ป็นสิ่งเกี่ยว เนื่องจากภาพยนตร์ไทย ที่รวบรวมมาตลอดระยะเวลาประมาณ 25 ปี และยังจัดหาเพิ่มเติมตลอด บางส่วนได้มาจากการบริจาคของบุคคลในวงการภาพยนตร์ และบางส่วนก็มาจากการที่ทางพิพิธภัณฑ์ออกไปติดต่อจัดหามาเองโดยตรง เช่น สเลคที่มีรูปทรงแปลกที่สุดลักษณะเป็นกลมใหญ่ และสเลคที่มาจากภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ในมุมสเลค
     
       การชมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นรูปแบบมีวิทยากรนำชมและบรรยายเรื่อง ราวต่างๆ บางทีมีเด็กมามาเล่าหนังที่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดู หรือบางครั้งมีผู้สูงอายุมาก็มาเล่าเรื่องราวสมัยก่อนๆที่เจ้าหน้าที่อาจไม่ เคยรู้ให้ได้ฟัง เป็นการพูดคุยเล่าเรื่องราวความประทับใจของแต่ละคนแลกเปลี่ยนกัน ตลอดการชมด้วยเวลาประมาณ 1.30 -2 ชั่วโมง
คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ
       จากจุดนี้ความสนุกสนานจะเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวิทยากรเริ่มแนะนำอุปกรณ์ประกอบฉากแต่ละชิ้นพร้อมทั้งให้ผู้เข้าชมได้ ทายว่ามาจากภาพยนตร์เรื่องอะไร เช่น ประตู ที่มีลักษณะเด่นต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ประตูรถแท็กซี่ที่แปลกจากเรื่องอื่นๆ เสื้อผ้าที่เด่นๆ อุปกรณ์ประกอบฉากที่หนังเรื่องอื่นไม่มี เป็นต้น ซึ่งก็สร้างเสียงเจี๊ยวจ๊าวให้กับผู้เข้าชมได้ตลอดการชมเลยทีเดียว แต่สำหรับคำตอบนั้นฉันขออุบเอาไว้ก่อน ให้ไปหาคำตอบกันด้วยตนเองได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
     
       มุมความเชื่อของคนไทย ก็สร้างความตื่นเต้นครึกครื้นให้ผู้เข้าชมได้เป็นอย่างมาก อาทิ ปั้นเหน่งและศพแม่นาคที่ใช้ในการแสดงภาพยนตร์ เสื้อ ผ้าเครื่องแต่งกาย โต๊ะตู้ หุ่นกระบอกประกอบภาพยนตร์สยองขวัญ ก็จัดแสดงให้ได้ขนลุกกันอยู่ในส่วนนี้ด้วย จากนั้นขึ้นบันไดผ่านมุมแผ่นเสียงและรางวัลทางภาพยนตร์ไทยไปยังส่วนจัดแสดง ชั้นที่ 2
มุมแสดงเสื้อผ้าที่ใช้ในภาพยนตร์ต่างๆ
       ในชั้นนี้จัดแสดงเป็น “นิทรรศการถาวร 100 ปี ภาพยนตร์ไทย” ที่ ชั้นนี้จะเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2440 มีการถ่ายหนังครั้งแรกในเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นที่ ร.5 เสด็จประพาสยุโรป ก็ได้มีฝรั่งเอาหนังเข้ามาฉายในเมืองไทยเมื่อวันที่ 10 มิย. พ.ศ.2440 เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์โชว์การเล่นแสงเงาในสมัยก่อน
     
       จากนั้นเป็นส่วนอธิบายด้านศาสตร์ของภาพยนตร์ หรือหลักการวิทยาศาสตร์ โดยใช้หลักการภาพติดตา และยังมีการจัดแสดงเครื่องฉายหนังในยุคก่อน กล้องถ่ายภาพยนตร์รุ่นต่างๆ และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย ซึ่งในชั้นนี้เราจะได้รู้จักกับน้องหมาคาบกระเป๋าชื่อเจ้าจุ่น ซึ่งเป็นหมาไทยชาวธนบุรีตัวแรกที่ถูกฝึกให้เล่นหนังสั้นเรื่องจ๊ะเอ๋ เมื่อปี พ.ศ.2481 นู่นแน่ะ
มุมแต่งหน้าของนักแสดงสมัยก่อนที่ต้องแต่งหน้าเอง
       แต่ความสนุกยังไม่จบแพียงแค่นี้ จากชั้นที่ 2 คุณวินัยพาฉันไปต่อยังส่วนต่อไปในชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนของหอเกียรติยศ ซึ่งมีคุณรัช คนไทยเชื้อสายเปอร์เชีย โดยถือเป็นคนไทยคนแรกที่ทำภาพยนตร์ส่งไปประกวดในต่างประเทศแล้วได้รางวัล ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือเรื่องแตง
     
       ส่วนการแนะนำเล่าเรื่องการผลิตหนัง ว่ากว่าจะผลิตหนังขึ้นมา 1 เรื่องนั้น มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง อาทิคร่าวๆ ตั้งแต่เขียนบท หานักแสดงที่เหมาะสม หาอุปกรณ์ประกอบฉาก หาเสื้อผ้านักแสดง ถ่ายทำ ล้างฟิล์ม ตัดต่อ และสู่กระบวนการฉาย ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนั้นมีขั้นตอนยิบย่อยอีกมากมาย นอกจากนี้ยังจำลองที่ขายตั๋ว เก้าอี้แบบพับได้ในโรงภาพยนตร์สมัยก่อนไว้ให้ชมกันด้วยเป็นการปิดฉากกระบวน การขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ออกสู่สาธารณชน
ส่วนจัดแสดงกระบวนการหลังการถ่ายทำ
       ภายในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้กลับมากด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์อันเป็นมรดกล้ำค่าของภาพยนตร์ไทย แล้วยังแฝงไปด้วยความสนุกสนานของการนำชมแบบมีชีวิตชีวาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างผู้นำชมและผู้เข้าชมอีกด้วย ฉันรับรองว่ามาที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยแห่งนี้แล้วมีจะรักหนังไทยขึ้นอีกเป็นกองเลยทีเดียว
กระเป๋าเก็บฟิมล์ภาพยนตร์ในสมัยก่อน
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
     
       "พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย" ตั้งอยู่ที่ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 3 รอบ เวลา 10.00, 13.00 และ 15.00น. หากมาเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า นอกจากนี้ในบริเวณติดกันยังมีโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา โรง ภาพยนตร์ชุมชนแห่งแรกของประเทศ ขนาด 120 ที่นั่ง ที่จัดฉายภาพยนตร์หลากหลายแนวเพื่อการเรียนรู้ โดยเปิดให้ชมทุกวัน ด้านหน้าของโรงภาพยนตร์ยังโดดเด่นด้วยรอยประทับรอยมือและรอยเท้าของเหล่าศิลปินชื่อดังของเมืองไทยกว่า 100 คนด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2482-2013-5
รอยประทับมือ-เท้าของนัดแสดงชื่อดัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น